ในสัปดาห์ที่ผ่านมาประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียได้ลงนามในนโยบายการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ใหม่ที่จะอนุญาตให้กองทัพใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้การโจมตีด้วยอาวุธแบบธรรมดาได้
รัสเซียกล่าวว่าอาวุธนิวเคลียร์ของตนได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อป้องปรามการโจมตีที่อาจเกิดขึ้น และกองทัพรัฐเซียสามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการโจมตีข้าศึกหากข้าศึกตั้งเป้าหมายการโจมตีมาที่โครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลและของทหารที่สำคัญของประเทศ
กฤษฎีกาที่ปูตินลงนามนั้นจะใช้แทนที่นโยบายเก่าที่ใช้มา 10 ปีซึ่งหมดอายุไปแล้วในปีนี้ กฤษฎีกากำหนดประเภทของภัยคุกคามที่อาจจำเป็นต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการตอบโต้ ซึ่งรวมถึงการโจมตีรัฐเซียด้วยอาวุธธรรมดาและไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ที่เป็นภัย “คุกคามการคงอยู่” ของประเทศ
นโยบายใหม่กล่าวด้วยว่า การตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์นั้นสามารถทำได้หากรัฐบาลรัสเซียได้รับข่าวที่เชื่อถือได้ว่าจะมีการยิงขีปนาวุธนำวิถีที่ตั้งเป้าหมายมาที่ประเทศรัสเซียหรือพันธมิตร
ปัจจุบันสนธิสัญญาลดอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซียที่เรียกว่า ข้อตกลง New START ได้ลงนามโดยอดีตประธานาธิบดีบารัคโอบามาและประธานาธิบดีดีมิทรีเมดเวเดฟในปี 2010 เป็นข้อตกลงใช้ในการควบคุมอาวุธระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียที่ยังคงเหลืออยู่เพียงฉบับเดียวหลังจากทรัมป์ถอนตัวออกจาก สนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์ระยะกลางของปี 1987 เมื่อเดือนที่แล้ว
อย่างไรก็ตามข้อตกลง New START ซึ่งกำหนดห้ามมีหัวระเบิดนิวเคลียร์ประจำการมากกว่า 1,550 หัวและห้ามมีขีปนาวุธและเครื่องบินทิ้งระเบิดมากกว่า 700 เครื่องจะหมดอายุลงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
รัฐบาลของทรัมป์มีแผนการที่จะทำข้อตกลงควบคุมอาวุธกับประเทศรัสเซียต่อไป ซึ่งรวมถึงการต่ออายุข้อตกลง New START แต่สหรัฐฯต้องการให้ประเทศจีนเข้าร่วมในข้อตกลงควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ด้วย แต่ประเทศจีนดูเหมือนมีเจตนาไม่ต้องการที่จะเจรจากับสหรัฐฯในเรื่องนี้