
ข้อมูลของงานวิจัยใหม่ของนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์การบินและอวกาศประเทศเยอรมันพบว่า ดวงจันทร์จริง ๆ แล้วมีอายุ 85 ล้านปีน้อยกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดคิดกันมาก่อน โดยงานวิจัยใหม่ได้ชี้ให้เห็นว่า ดวงจันทร์ได้ก่อตัวขึ้นเมื่อประมาณ 4.425 พันล้านปีก่อน
ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า ดวงจันทร์ก่อตัวขึ้นเมื่อประมาณ 4.51 พันล้านปีก่อน เมื่อดาวเคราะห์แรกเริ่มขนาดเท่า ๆ กับดาวอังคารดวงหนึ่งที่มีชื่อว่า ธีอา (Theia) พุ่งชนกับโลก ดาวเคราะห์แรกเริ่ม ธีอา ได้ถูกตั้งชื่อมาจากตำนานเทพเจ้ากรีก ซึ่งธีอาคือไททันองค์หนึ่งและเป็นเทพธิดาที่เป็นลูกของ ยูเรนัส (Uranus) และ จีอา (Gaea)
ผลของการชนกันทำให้ชิ้นส่วนของโลกส่วนหนึ่งแตกกระจายพุ่งออกสู่อวกาศ ส่วนของดาวเคราะห์ธีอาที่พุ่งชนโลกก็ได้หลอมรวมตัวเป็นส่วนหนึ่งของโลกเราในปัจจุบัน เศษส่วนที่พุ่งออกสู่อวกาศก็ก่อเป็นวงแหวนที่โคจรรอบโลก ตามกาลเวลาก็ค่อยชนหลอมรวมตัวกันจนเริ่มก่อตัวขึ้นเป็นดวงจันทร์ของเรา ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าเกิดขึ้นภายในเวลาสองถึงสามพันปีหลังการชนของดาวธีอา
ตามรายงานผลการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร the journal Science Advances ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การชนกันของโลกกับดาวธีอานั้นเกิดขึ้นเมื่อ 4.425 พันล้านปีก่อน (โดยอาจมีความคลาดเคลื่อนบวกลบ 25 ล้านปี) ในช่วงเริ่มก่อตัวเป็นดวงจันทร์นั้นจะปกคลุมไปด้วยทะเลแม็กม่าที่ร้อนแรงจาการชนและหลอมรวมกันของเศษส่วนที่แตกกระจายและโคจรอยู่รอบโลก
นักวิทยาศาสตร์ใช้การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อคำนวณหาเวลาว่าดวงจันทร์ที่ปกคลุมไปด้วยทะเลแม็กม่าที่ร้อนแรงนั้นจะใช้เวลานานเท่าไหรจนกระทั่งแข็งตัว ซึ่งนั้นจะช่วยในการคำนวณหาอายุที่แท้จริงของดวงจันทร์
การคำนวณพบว่าจะใช้เวลา 150 ถึง 200 ล้านปีที่จะทำให้ทะเลแม็กม่าปกคลุมดวงจันทร์แข็งตัวอย่างสมบูรณ์ ซึ่งต่างกันมากจากการคำนวณของนักวิทยาศาสตร์ก่อนหน้านี้เชื่อว่าจะใช้เวลาเพียง 35 ล้านปี
การพุ่งชนของดาวธีอาไม่เพียงทำให้เกิดการก่อตัวของดวงจันทร์ของเรา แต่ยังช่วยก่อให้เกิดแกนของโลกเราอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า 150 ถึง 200 ล้านปีนั้นเป็นเวลาประมาณเท่า ๆ กับเวลาที่ใช้ที่ทำให้แกนของโลกอยู่ตัว โดยที่ธาตุหนัก ๆ เช่น นิกเกิลและเหล็กจะจมลงไปอยู่ที่ใจกลางของโลก ในขณะที่ชั้นหินซิลิเกตก่อเป็นชั้นเนื้อโลกรอบ ๆ แกนของโลก